อันตรายตายผ่อนส่ง หากแยกเก็บ-ทำลายขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกวิธี
เมื่อโลกสมัยเปลี่ยนไป มีการพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อช่วยให้ความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตของมนุษย์มากขึ้น จึงมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมามากมาย ทั้งคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ฯลฯ แต่หลังจากอุปกรณ์เหล่านั้นเสื่อมสภาพจนกลายเป็นขยะ การกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีส่วนประกอบอันตรายหลายอย่างด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเรื่องของการจัดการปัญหาขยะในประเทศไทยว่า เจ้าภาพหลักแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ซึ่งกรมอนามัยดูแลเรื่องของขยะติดเชื้อเป็นหลัก ส่วนขยะมูลฝอยจะมีกระทรวงมหาดไทยดูแล และเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะพิษ คือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ดูแล และมีกรมควบคุมมลพิษ เป็นเจ้าภาพหลัก ซึ่งกฎหมายก็ถือว่าพอเพียง แต่ต้องปรับปรุง และออกกฎหมายลูกเพื่อให้ครอบคลุมการดูแลปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มาในประเทศไทย รวมถึงการเปิดโรงงานกำจัดขยะโดยไม่แจ้งวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เป็นต้น
ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย
เครือข่าย WEEE CAN DO ที่ประกอบด้วย สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (แผนงาน สสส.), สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรมควบคุมมลพิษ, สถาบันการศึกษาและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และนักวิชาการอิสระ ระบุว่า ประเทศไทยผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์ตกปีละราวๆ 400,000 ตันต่อปี หรือมีปริมาณเท่ากับ 30,000 คันรถเลยทีเดียว
การกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ กับผลกระทบต่อร่างกาย
สารอันตรายต่างๆ ที่อยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นเสี่ยงได้รับเข้าสู่ร่างกายตั้งแต่ขั้นตอนของการชำแหละ สูดดมเข้าร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ รวมถึงการกำจัดซากด้วยการเผา หากเผาทำลายไม่ถูกวิธี วิธีที่ไม่ได้มาตรฐานก็เสี่ยงที่จะได้รับจากควัน เขม่าจากการเผา ซึ่งบางครั้งการเผาก็ทำให้สารตัวหนึ่งแปลเป็นอีกตัวได้
อย่างไรก็ตาม การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยทั่วไปนั้น เนื่องจากว่ามีการห่อหุ้ม และมีการป้องกันระดับหนึ่งอยู่แล้วจึงไม่อันตรายเหมือนกับการที่ไปชำแหละซากขยะอิเล็กทรอนิกส์
อันตรายต่อสุขภาพ จากการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกวิธี
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ จัดเป็นขยะพิษที่อันตรายร้ายแรงมาก เพราะมีโลหะหนัก ตะกั่ว ปรอท มีผลต่อร่างกายทั้งระบบสมอง เลือด เป็นต้น จึงจะเห็นว่าต่างประเทศ แต่ละประเทศไม่มีใครอยากเก็บไว้ มีแต่จะเอาไปทิ้งที่ประเทศอื่น
มนุษย์รับอันตรายจากขยะอิเล็กทรอนิกส์จากการทิ้ง และเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ เกิดการรั่วไหลของสารเคมีที่อยู่ในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้น จึงทำให้ได้รับผลกระทบจากการสัมผัสกับผิวหนัง รวมไปถึงการสัมผัสกับกลุ่มควันจากการเผา และไอจากของเหลวต่างๆ อีกด้วย
ผลกระทบจากโลหะหนักที่พบในขยะอิเล็กทรอนิกส์ ต่อสุขภาพของมนุษย์
ทำลายระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ สมอง และไขกระดูกสันหลัง จนอาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของแขน ขา การพูด
ทำลายระบบต่อมไร้ท่อ
ไตทำงานผิดปกติ
ระบบเลือดผิดปกติ
หัวใจทำงานผิดปกติ
ปอดอักเสบ
ระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ
เป็นสารก่อมะเร็ง
ทำลายสมอง และพัฒนาการของเด็ก
ระบบประสาทในการรับรู้ทำงานผิดปกติ เช่น การได้ยิน การมองเห็น
กล้ามเนื้ออักเสบ
ท้องเสีย อาเจียน
ระคายเคืองผิวหนัง
ปวดศีรษะ
ทำลายสารเคลือบฟัน จนอาจเพิ่มความเสี่ยงฟันผุ
วิธีกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
วิธีการป้องกันขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำได้โดย
ลดการนำ เศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว (End of Life) นํากลับมาใช้ใหม่ (Re-use & Recycle) เพื่อลดความเสี่ยง และผลกระทบจากปริมาณขยะ
แยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกจากขยะประเภทอื่นๆ แล้วส่งต่อไปยังโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้รับขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือส่งให้กับศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อทำการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี
ขณะนี้สิ่งที่ประเทศไทยได้ทำคือ การจัดทำกรอบระเบียบเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งเป็นกรอบที่รองรับผลกระทบที่ จะเกิดขึ้นจากระเบียบของสหภาพยุโรป กรอบดังกล่าวประกอบด้วย แนวทางการควบคุมที่ต้นทาง โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมภาษีจากผู้นำเข้าสินค้า และผู้ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ แล้วนำเงินไปบริหารจัดการ โดยจะออกกฎหมายเก็บค่าธรรมเนียม การตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม การจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างทาง โดยจะไม่มีกฎหมายบังคับ แต่ใช้มาตรการด้านกลไกตลาด และแนวทางสุดท้ายเป็นการควบคุมที่ปลายทางจะสนับสนุนให้เกิดโรงแยกขยะแบบครบวงจร
ขอบคุณข้อมูลจาก sanook!
Hi! I am a robot. I just upvoted you! I found similar content that readers might be interested in:
https://www.sanook.com/health/12413/