เล่นละครวิทยุ/พากย์หนัง 2 ความต่างของสองศาสตร์

in #thai7 years ago (edited)

สวัสดีค่ะ ด๋ามาแล้ว อย่าเพิ่งเบื่อที่มาทีไรก็เล่าแต่เรื่องงานพากย์นะคะ ก็งานพากย์คือชีวิตของด๋านี่คะ ชีวิตไม่ได้มีอะไร ไม่ได้กินข้าวร้านหรู ไม่ได้เที่ยวต่างประเทศ มีแต่พากย์หนังกับขายของ หาเงินเลี้ยงชีพค่ะ ^^ เอาล่ะค่ะ มาเข้าเรื่องตามหัวข้อกันเลยดีกว่า image
มีนักพากย์หนังหลายคนที่เคยเล่นละครวิทยุมาก่อน ด๋าเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยคลุกคลีกับวงการละครวิทยุมาถึง 7 ปี ก่อนที่จะได้พากย์หนังตามเจตนารมณ์แรกเริ่มที่ตั้งใจไว้และพากย์ต่อเนื่องมา 17-18 ปีแล้ว จึงจะขอเล่าจากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสทั้งสองศาสตร์มา ให้ท่านที่ยังไม่เคยได้พบเห็นหรือมีประสบการณ์ร่วมในสาขาอาชีพปิดทั้งสองนี้ให้ได้เข้าใจสองศาสตร์นี้มากขึ้นนะคะ เรามาเริ่มที่ความเกี่ยวพันกันของสองศาสตร์นี้ก่อนว่าอะไรที่ควรเป็นพื้นฐานที่คนทำงานทั้งสองศาสตร์นี้ควรจะมี นั่นก็คือ เนื้อเสียงที่ดี ไม่แหบพร่า พูดชัดเจน อ่านหนังสือแตก อ่านคล่อง ไม่ผิดความหมาย และต้องมีสมาธิค่ะ สำคัญทีเดียว

-จินตนาการ คนเล่นละครวิทยุต้องมีจินตนาการ ขณะเล่นต้องนึกภาพขึ้นมาในหัวได้เสมือนจริง เช่นขณะพูดคำว่าเธอมาแล้ว ก็ต้องเห็นภาพว่าเธอมาจริง ๆ แล้วอาจพูดออกมาว่า (กลั้วหัวเราะ)แน่ะ เธอวิ่งมาโน่นแล้วไง หรืออย่างเช่น เธอร้องไห้ ก็จะพูดออกมาว่า ร้องไห้น้ำตาหยดแหมะ ๆ เชียว หรือเห็นเธอลองเสื้อผ้าดูกระจก ก็พูดว่า ลองเสื้อหมุนตัวชะแว้บดูกระจก อะไรแบบนี้เป็นต้น พอนึกออกใช่มั้ยคะ ในขณะที่การพากย์หนังจะไม่ต้องจินตนาการอะไรมากเพราะมีภาพให้ดูอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องพากย์ให้ลงตรงปากนักแสดง ควรหยุดเสียงเมื่อนักแสดงปิดปาก จะเติมบทมากมายไม่ได้เพราะจังหวะของหนังบังคับอยู่ นอกจากผู้พากย์ตั้งใจใส่มุกลงไป

-คาแรคเตอร์ของเสียง ผู้เล่นละครวิทยุโดยมากมักจะมีคาแรคเตอร์ของเสียงที่ชัดเจน ที่พอผู้ฟังได้ยินปุ๊บจะรู้เลยว่า นี่นางเอก นี่พระเอก นี่ตัวโกง นี่ตัวอิจฉา นี่ตัวตลก ผู้เล่นละครวิทยุจึงมักได้รับบทบาทเดิม ๆ อยู่เสมอเพราะคนฟังติดเสียงแล้ว ถ้าบังเอิญเกิดเอาคนเคยเล่นเป็นตัวตลกมาเล่นเป็นพระเอก คนฟังก็จะไปยึดติดว่านี่ตัวตลกไม่ใช่พระเอก เพราะผู้ฟังก็ชินกับการจินตนาการตามว่าเสียงนี้ต้องเป็นตัวนี้ เสียงนั้นต้องเป็นตัวนั้น เพราะใช้หูในการฟังอย่างเดียวล้วน ๆ ไม่มีภาพให้คล้อยตาม ในขณะที่การพากย์หนัง อาจมีการสลับตำแหน่งของเสียงได้เพราะมีภาพดาราคนนั้น นักแสดงคนนี้เล่นในบทบาทตามเนื้อเรื่องอยู่แล้ว ผู้ชมไม่ต้องจินตนาการเอง แต่ก็มีบางกรณีเหมือนกันที่ถ้าเป็นดาราคนนี้แสดง จะต้องเป็นเสียงคนนี้พากย์เท่านั้น นั่นก็เพราะคนดูรู้สึกคุ้นชินกับเสียงนี้ หรือบางทีอาจเป็นเพราะฝรั่งเลือกเสียงนี้ (เวลาหนังเข้าฉายในโรง บางเรื่องก็จะมีการแคสต์เสียงก่อนเพื่อให้ฝรั่งคัดเลือกเสียงที่เหมาะสม) แต่เนื่องจากในวงการนักพากย์หนังมีทีมพากย์อยู่หลายทีม เมื่อหนังตกไปอยู่ในมือทีมพากย์ใดก็ต้องเปลี่ยนเสียงไปตามนักพากย์ของทีมนั้น ๆ สมมติอย่างเช่น หนังเฉินหลงฉายช่อง 3 จะเป็นเสียงคนนี้พากย์เฉินหลง พอไปฉายช่อง 7 ก็จะเป็นเสียงอีกคนนึง เพราะต่างช่องต่างก็มีทีมของช่องเอง แบบนี้เป็นต้นค่ะ

-ลีลา ผู้เล่นละครวิทยุ มักเล่นด้วยลีลาค่อนข้างเนิบ ช้ากว่าหนัง เพื่อทิ้งจังหวะให้ผู้ฟังนึกภาพ จินตนาการตาม เราจึงไม่ค่อยได้ยินตัวละครในวิทยุพูดเร็วรัวปรื๊ด ๆ ในขณะที่ผู้พากย์หนัง จะเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับจังหวะของหนังเป็นตัวกำกับ นักพากย์จึงควรต้องพากย์เร็วได้ซอยปากให้ไวให้ทันหนัง และต้องพากย์ช้าได้ถ้าตัวละครเป็นคนพูดช้า ๆ

-บท เรื่องของบทพากย์เป็นส่วนที่สำคัญมาก ๆ ในการจะพากย์ทั้งสองศาสตร์ให้ออกมาดี บทละครวิทยุที่ดีก็จะเอื้อให้ผู้เล่นแสดงอารมณ์ของเสียงออกมาได้ถูกต้อง เช่น มีวงเล็บก่อนหน้าคำพูด อ่ะตอนนี้ด๋าจะให้คุณสมมติว่าตัวเองกำลังเล่นละครวิทยุ แล้วลองทำตามนะคะ
นางเอก : (ร้องไห้) เธอ ทำไมเธอทำกับฉันอย่างนี้ (สะอื้น) เธอรู้มั้ยว่าเธอทำให้ฉันเสียใจขนาดไหน
ชาย 1 : (ตะคอก) ไม่ต้องมาบีบน้ำตา ฉันไม่หลงเชื่อเธอหรอก!!!
พ่อ : (โกรธ) หนอย ไอ้... มาทำให้ลูกข้าเสียอกเสียใจขนาดนี้ มันชักจะหยามกันเกินไปแล้วโว้ย ฮึ่ย!!
อะไรแบบนี่เป็นต้น การใส่คำพูดแบบ หนอย โว้ย ฮึ่ย ฯลฯ อะไรพวกนี้ลงไปในบทก็เป็นการช่วยบอกให้ผู้เล่นรู้ว่าควรแสดงอารมณ์ของเสียงออกมาแบบไหนด้วย ส่วนบทพากย์หนังก็จำเป็นที่จะต้องกำหนดคำให้ลงตามปากของตัวแสดงโดยให้ได้ใจความครบถ้วนตามเจตนารมณ์ของหนัง อย่างเช่น hello = หวัดดี 2 พยางค์เท่ากัน hi = ไง พยางค์เดียวเท่ากัน คัมซาฮัมนีดา = ขอบคุณมาก ๆ ค่า อะไรประมาณนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องนับพยางค์แปลกันเป๊ะ ๆ ทุกประโยค อันนี้ด๋าในฐานะที่เคยเป็นนักแปลบทพากย์มาก่อน ก็พอรู้ว่าบทภาษาอังกฤษสิบพยางค์จะแปลมาเป็นคำไทยประมาณเจ็ดพยางค์ ทั้งนี้ก็เพราะภาษาอังกฤษมีตัวครึ่งพยางค์เยอะ เช่น school ก็จะออกเสียง (ส)คูล ไม่ใช่ สะ-คูล อะไรแบบนี้เป็นต้น พอแปลเป็นไทยเลยต้องกร่อนให้พยางค์ไทยน้อยกว่า จึงจะสับปากพากย์ได้ทัน นึกออกใช่มั้ยคะ

-การทำเสียงประกอบ ผู้เล่นละครวิทยุต้องทำเสียงประกอบในบทพูดของตัวเอง จึงต้องมีสมาธิในการหยิบอุปกรณ์ให้ถูกชิ้น ในขณะเดียวกันตอนเอื้อมหยิบอุปกรณ์ก็ต้องไม่เผลอทำเสียงลุกลี้ลุกลนให้คนฟังจับได้ ในขณะที่การพากย์หนัง ต้องไม่ทำเสียงอะไรอื่นใดเข้าไมค์เลย ไม่งั้นเสียงจะเข้าไปในหนังซ้อนกับเสียงซาวน์ด์ที่มีอยู่ในหนังกลายเป็นเสียงรบกวนไปซะงั้น เพราะในหนังมักจะมีซาวน์ด์ประกอบมาให้อยู่แล้ว เราเรียกกันว่า M/E น่าจะหมายถึง music/effect นะคะ ไม่คอนเฟิร์ม ส่วนหนังบางเรื่องที่ไม่มี M/E แยกมาให้ คือรวมมาไลน์เดียวหมดทั้งเสียงดนตรีเสียงพูดเสียงเอฟเฟ็คต์ เราก็จะต้องทำการตัดเสียงก่อนเข้าบทพูด ซึ่งเราเรียกกันว่าการคัตซาวน์ด์ค่ะ ยกตัวอย่างเช่น เวลาดูหนังกลางแปลงแล้วมีเสียงจีนแล่บออกมาต้นประโยคทุกครั้ง นั่นล่ะค่ะคือหนังคัตซาวน์ด์ หรือเวลาดูสารคดีแล้วมีเสียงแบบ this isนี่คือฝูงไคโยตี้ they alมันมักจะอยู่รวมกันเป็นฝูง at nightตอนกลางคืนมันจะออกหากิน อะไรแบบนี้เป็นต้น นั่นก็คือการคัตซาวน์ด์ที่ไม่เนียนค่ะ เพราะพากย์ไปคัตไป มักจะตัดเสียงพยางค์แรกไม่ทัน
เอาล่ะค่ะ ก็มีเท่านี้ที่ด๋าพอจะนึกออก หวังว่าทุกท่านที่เข้ามาอ่าน คงได้รับความรู้และความเพลิดเพลินจากการเล่าของด๋ากันไปบ้าง อย่าเพิ่งเบื่อกันนะคะ ไว้นึกอะไรออกจะมาเล่าอีกค่ะ 😄

Sort:  

ใช้จินตนาการสูงเหมือนกันนะครับนี่ ต้องเอาตัวหนังสือมาสร้างเป็นภาพในหัวก่อน แล้วค่อยแสดงออกมาทางน้ำเสียง ^^

ใช่เลยค่ะ บทพากย์กับตัวผู้พากย์ต้องมีจินตนาการร่วมกัน เอื้อซึ่งกันและกัน ถึงจะไปด้วยกันได้แบบเนียน ๆ ให้ผู้ชมและผู้ฟังเพลิดเพลินไปตลอดการรับชมรับฟังค่ะ ^^

ลองนึกสภาพ ถ้าคนพากย์ตีบทไม่แตก ก็จะเหมือนนักเรียนที่ยืนท่องตำราอยู่หน้ากระดานดำใช่ใหมครับ ^^

ใช่เลยค่ะ @nikornkulatnam เหมือนอ่าน ๆ ไปให้มันจบแล้วจะไม่โดนครูตี 😜

แบบนั้นผู้ฟังหลับก่อนแน่ๆ ครับ ฮ่าๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

😁😁😁😁😁 เมื่อก่อนเคยมีแฟนละครเขียนจดหมายมาบอกว่าด๋าเสียงแก่ด้วยค่ะ จำได้ไม่ลืมเลย เขาบอกว่านางเอกเสียงเพราะ นางรองเสียงแก่ ตอนนั้นคนเล่นละครเป็นนางเอกอายุเกือบ60 แล้ว ในขณะที่ด๋าเล่นเป็นนางรองตอนนั้นอายุยี่สิบกว่าเอง เสียเซลฟ์ไปเลยค่ะคุณนิกร 😅

เรียก ก๊ง ก็ได้ครับคุณด๋า ^^ น้อยใจแย่เลยนะครับเนี่ย ถ้ามีคนว่าเราเสียงแก่ ฮ่าๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

ค่ะคุณก๊ง แต่ก็เข้าใจนะคะเพราะคนฟังละครวิทยุเขาใช้จินตนาการล้วน ๆ เลย คุณน้านางเอกก็ดัดเสียงอ่อนเสียงหวานจนแฟนละครนึกภาพเห็นนางเอกสาวสวยหวาน ในขณะที่เราใช้เสียงธรรมชาติ โดนคอมเมนต์ซะเหี่ยวเลย 😅😅😅

สวัสดีด๋าาาาา หายไปนานเลยนะจ๊ะ ฟังด๋าเล่าถึงการ cut sound แล้วนึกถึงหนังกลางแปลงที่เคยดูสมัยเด็กๆ จริงๆจ้ะ

สวัสดีจ้ะซี~ วันธรรมดาเรายุ่งมากเลย ไม่มีเวลาแวะเข้ามาเลย กว่าจะได้กินข้าวเย็นก็สองสามทุ่ม ใช้พลังวัยสาวรุ่นของเราอย่างเต็มที่มาก 😝
จริง ๆ พวกหนังคัตซาวน์ด์น่ะ ถือว่าเป็นหนังที่M/Eไม่สมบูรณ์ แต่เราว่ามันก็เป็นเอกลักษณ์อย่างนึงนะถ้าไม่ซีเรียสว่ามันจะแล่บออกมาขัดอารมณ์ 😄

ไม่ได้มาโพสต์นานเลยนะคะ คุณด๋า
เคยเจอคัตซาวน์ด์แบบไม่เนียนในหนังแผ่นผีเหมือนกันค่ะ น่าจะเป็นหนังซูมภาพก็ไม่ชัดอีก เซ็งไปเลย 555 เข็ดหลาบเลิกซื้ออีกเลยค่ะ

ด๋างานยุ่งมากเลยค่ะคุณเปิ้ล ขอบคุณนะคะที่ติดตาม
พวกเรานักพากย์ ก็ไม่ชอบหนังคัตซาวน์ด์เหมือนกันค่ะ มันทำให้เสียสมาธิในการพากย์ แทนที่จะได้มุ่งอยู่กับบทกับหนัง ก็ต้องมือกระตุกคอยคัตสวิทช์ตอนถึงบทพูด 55555 บางทีก็คัตพลาดค่ะ ต้องให้ช่างเสียง(CONTROLLER) ช่วยดูอีกที

สวัสดีค่ะคุณด๋า แนตค่ะยินดีที่ได้รู้จักค่ะ งานพากย์นี่ต้องใช้จิตนาการมากๆเลยนะค่ะ

สวัสดีค่ะคุณแนต ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ
งานพากย์ต้องใช้จินตนาการจริง ๆ ค่ะ นักพากย์เราก็แซวกันเองว่าพวกเราบ้าค่ะ ถ้าไม่บ้าก็ไม่มาเป็นนักพากย์ ประมาณนี้อ่ะค่ะ 😄

สวัสดีค่ะ คุณด๋า จ๋านะคะ คงต้องใช้จินตนาการมากๆ เลยนะคะ เพราะมีแค่ตัวหนังสือ ส่วนอารมณ์นี่ต้องสร้างเอง น่าสนุกดีนะคะ

สวัสดีค่ะคุณจ๋า@marisajak ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ
ยิ่งจินตนาการเยอะ ๆ ยิ่งสนุกค่ะ จริง ๆ นักพากย์ก็เหมือนคนบ้าค่ะคุณจ๋า นั่งพูดทั้งวัน เดี๋ยวเสียงเด็กเดี๋ยวเสียงแก่ เดี๋ยวร้องไห้เดี๋ยวหัวเราะ บางทีได้พากย์ตัวกรี๊ด ๆๆๆ ปลดปล่อยอารมณ์แบบที่ไม่ใช่ตัวเราเลย สนุกดีค่ะ 😄

ในนี้มันน่าจะมีเสียงนะคะจะได้ฟังเสียงคุณด๋าไปด้วยค่ะ

อ่าาาาาาา เขินอ่ะค่ะ 😅😅

เก็บมองไม่เห็นโพสต์เลยค่ะ หารูปใส่จะดีกว่านะคะ คนหาไม่เจอ😊

ขอบคุณที่แนะนำค่ะคุณแคท ไม่รู้จะใส่รูปอะไรดี ลงรูปเก่าไปก็แล้วกันนะคะ ^^

พี่ด๋าเก่งมากเลยค่ะ เล่าแล้วเห็นภาพตาม หนูนี้จินตนาการไปถึงให้ห้องอัดแล้ว ตอนพี่บอกว่ามีแคสเสียง หนูนี้จินตนาการถึงฝรั่งหัวทองมานั่งเช็คเสียงคนพากษ์เลย 555 ชอบอ่านนะค่ะ เป็นเรื่องที่ไม่เคยรู้ และสนุกที่จะรู้ ไม่เบื่อแน่นอนค่ะ พี่ด๋า ไม่ต้องกังวลว่าใครจะเบื่อนะค่ะ คราวหน้าถ้าพี่ไม่รู้จะลงอะไรก็ลงรูปห้องอัด หรือไมค์ หรืออุปกรณ์ต่างๆก็ได้นะค่ะ อยากเห็นเหมือนกัน

ขอบคุณค่ะวิ ดีใจจังที่วิชอบอ่านเรื่องที่พี่เล่า เดี๋ยวเย็นนี้พี่จะไปห้องพากย์อีกที่นึง ถ้าหาเหยื่อเป็นตากล้องให้ได้ จะเก็บภาพมาให้ดูค่ะ ^^

Congratulations @happida! You have completed some achievement on Steemit and have been rewarded with new badge(s) :

Award for the number of comments

Click on any badge to view your own Board of Honor on SteemitBoard.
For more information about SteemitBoard, click here

If you no longer want to receive notifications, reply to this comment with the word STOP

Upvote this notification to help all Steemit users. Learn why here!

สวัสดีค่ะ งานพากย์เป็นงานที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวจริงๆ ค่ะ ไม่ใช่ใครๆก็ทำได้ นับถือเลยค่ะ :)

สวัสดีค่ะ คุณ@mayasiam ^^ เป็นงานพรสวรรค์ส่วนนึงค่ะ แต่เคยเห็นมาแล้วนะคะ นักพากย์ที่มาจากพรแสวง คือน้องคนนี้เขาจะเสียงแหงว ๆ จนได้ฉายาจากเพื่อน ๆ ว่าตะแง้ว พออยากเป็นนักพากย์เลยปรับวิธีการพูดของตัวเองใหม่หมดเลยค่ะ แล้วก็ทำได้จริง ๆ เก่งมาก ๆ